
การเลือกรับประทานอาหารมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยและคนดูแลคนป่วยเป็นเบาหวานมักจะละเลยในเรื่องของอาหารการกิน โดยคิดว่าเมื่อได้ทานยาอย่างเดียวแล้ว คงหายเหมือนกับโรคทั่วไป ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด การใช้ยารักษาโรคเบาหวานเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ ดังนั้น การควบคุมอาหารและรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย จงถือเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาและป้องกันโรคเบาหวานได้
นพ.ประสิทธิ์ ลีวัฒนภัทร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้เล่าถึงอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ภายในงาน “เปลี่ยนเบาหวาน ให้เป็นเบาหวิว” ในโครงการ SOOK Activity โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไว้ว่า หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน คือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย โดยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะการกินที่มากเกินจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหรือขึ้นเร็ว ในขณะเดียวกันหากกินน้อยไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้
คุณหมอประสิทธิ์ บอกอีกว่า ความจริงแล้วหลักการกินอาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ได้แตกต่างจากหลักการกิน เพื่อให้มีสุขภาพดีของคนทั่วไป เป็นการกินอาหารให้ครบหมู่ ถูกสัดส่วน ในปริมาณพอเหมาะ และมีความหลากหลาย
โดยอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.อาหารที่ “ไม่ควร” รับประทาน
น้ำตาลทุกชนิดรวมทั้งน้ำผึ้ง น้ำตาลจากผลไม้
ขนมหวานและขนมเชื่อมต่าง ๆ เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมชั้น สังขยา ลอดช่อง ฯลฯ
ผลไม้กวน เช่น มะม่วงกวน ทุเรียนกวน สับปะรดกวน ฯลฯ
น้ำหวานต่าง ๆ น้ำผลไม้ ยกเว้น น้ำมะเขือเทศ นมรสหวานรวมทั้งน้ำอัดลม
เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชา กาแฟ (ถ้าดื่มกาแฟควรดื่มกาแฟดำไม่ควรใส่น้ำตาล นมข้นหวาน หรือครีมเทียม แต่สามารถใช้น้ำตาลเทียมได้บ้าง)
ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน องุ่น ลำใย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ อ้อย สับปะรด ผลไม้แช่อิ่ม หรือ เชื่อมน้ำตาล
ของขบเคี้ยวทอดกรอบ และอาหารชุบแป้งทอดต่างๆ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก ข้าวเม่าทอด
เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายจึงควรหลีกเลี่ยง
2.อาหารที่รับประทานได้ “ไม่จำกัดปริมาณ”
ผักก้าน ผักใบ ผักใบเขียวทุกชนิด ควรรับประทานทุกวัน และทุกมื้อให้หลากหลายชนิดในหนึ่งวัน อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหารสูง ทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง อีกทั้งใยอาหารยังช่วยดูดซับน้ำตาล ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป ทำให้ร่างกายสามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้พอดี ได้แก่ ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง บวบ มะเขือ ฟัก แตงกวา น้ำเต้า ถั่วฝักยาว ถั่วงอก เป็นต้น จะรับประทานในรูปของผักสด หรือผักต้มก็ได้ แต่ไม่แนะนำในรูปของน้ำผักปั่น โดยเฉพาะน้ำผักปั่นแยกกาก ทำให้เราได้รับใยอาหารไม่ได้มากเท่าที่ควร
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณ 4-6 ทัพพี แต่หากเป็นผักต้มสุกจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ขณะที่ สสส.ได้เผยผลวิจัยพบว่า การกินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ร้อยละ 33 และโรคมะเร็งได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่กินผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์
3.อาหารที่รับประทานได้ แต่ต้อง “จำกัดปริมาณ”
อาหารพวกแป้ง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง มักโรนี ข้าว เผือก มัน ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ อาหารเหล่านี้มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าน้ำตาล และมีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย โดยอาหารจำพวกแป้งจะถูกย่อยเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ผู้เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงดหรือจำกัดจนเกินไป ควรได้รับให้เหมาะสมกับแรงงานและกิจกรรมที่ทำ การจำกัดข้าวหรือแป้งมากเกินไปกลับเป็นผลเสีย เพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจต่ำ เกิดอาการหิว ส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
ลดอาหารไขมัน เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หมูสามชั้น หรือ อาหารทอดมันมากๆ ไขมันมาก ๆ
ตลอดจนไขมันจากพืชบางชนิด เช่น กะทิ น้ำมันปาล์ม ควรใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก
อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารพิเศษสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น น้ำตาลเทียม น้ำตาลจากผลไม้
ผักประเภทที่มีแป้งมาก เช่น ฟักทอง กระเจี๊ยบ หัวปลี แครอท สะเดา ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ ผลไม้บางชนิด เช่น ฝรั่ง กล้วย เงาะ มะละกอ
อาหารจากโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ ให้รับประทานปกติ หลีกเลี่ยงเนื้อติดมัน ไก่ติดหนัง
นมจืดพร่องไขมัน ควรหลีกเลี่ยงนมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง
ผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกัน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในผลไม้อยู่ในรูปแบบของน้ำตาล โดยผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลมาก เช่น ทุเรียนมีน้ำตาลประมาณ 30 – 35% ส้มมีน้ำตาลประมาณ 10% และมะขามหวาน มีน้ำตาลมากถึง 75 – 80% ซึ่งผลไม้ยิ่งหวานมาก ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น เป็นต้น
ถึงแม้ว่าผลไม้จะมีน้ำตาล แต่ก็ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงด แต่ควรกินตามปริมาณที่กำหนด โดยแนะนำว่าสามารถกินได้วันละ 2-3 มื้อ ในปริมาณ 7-8 ชิ้น คำ/มื้อ
การจะควบคุมโรคเบาหวาน จำเป็นต้องลดทั้งหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยจะต้องดูแลทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะดูแลสุขภาพของเราได้อย่างยั่งยืน
สุดท้ายเรามีเมนูแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมาให้ลองดูเป็นตัวอย่างด้วยนะคะ แต่ถ้าใครไม่สะดวกทำเอง คลีนแซบยินดีรับใช้ค่ะ
